วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 9 คดีที่ นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI , พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุความรุนแรงทางการเมืองปี 2553 , พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ และ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญาฯ จากกรณีที่ นาย ธาริต กับพวก แจ้งข้อหาดำเนินคดี นาย อภิสิทธิ์ และ นาย สุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 โดยจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
ต่อมาปี 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลย จากนั้นในปี 2563 ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับ ให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ซึ่ง จำเลยทั้งสี่ได้ยื่นฎีกาคดีนี้อีกที กระทั่งศาลมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาครั้งแรก ปี 2564 นาย ธาริต ก็เริ่มมีเหตุเลื่อนฟังคำพิพากษามาเรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ปัญหาไม่ได้รับหมายศาลเพราะย้ายภูมิลำเนา ต่อมา มีอาการป่วยชักเกร็งหมดสติ , ป่วยโควิด-19 , มีปัญหาย้ายที่อยู่อีก , ป่วยโควิด-19 อีกรอบ , ปวดอักเสบโรคนิ่วไต , มีเหตุจำเป็นต้องผ่าตัดโรคนิ่วไต และครั้งที่ผ่านมาครั้งที่ 8 มาตามนัดฟังคำพิพากษา แต่ขอกลับคำให้การ เป็นเหตุให้ต้องส่งคำให้การให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ส่วนล่าสุดวันนี้นัดฟังคำพิพากษาครั้งที่ 9 ทนายความ นาย ธาริต ได้ยื่นขอเลื่อนฟังคำพิพากษาอีก เนื่องจากเมื่อวานนี้มีอาการป่วย เวียนศีรษะ อาการบ้านหมุนกระทันหัน และเป็นลมหมดสติ เป็นเหตุให้นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ซึ่งศาลอาญาจะส่งเรื่องให้ศาลฏีกาวินิจฉัยภายในวันนี้ และจะมาแจ้งคำสั่งผลวินิจฉัยของศาลฎีกา ในเวลา 14.00 น.ของวันนี้
สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลย โดยศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา จากนั้นจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นฎีกา ขอให้ยกฟ้อง
ต่อมาวันที่ 2 ก.พ. 2566 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาคดีนี้เป็นครั้งที่ 7 แต่ธาริต มอบหมายให้ทนายความยื่นคำร้องพร้อมใบรับรองแพทย์ ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน เนื่องจากต้องเข้ารับการผ่าตัดนิ่วในไต ที่โรงพยาบาลโดยแพทย์ให้รักษาและรอดูอาการเป็นเวลา 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ธาริต จำเลยที่ 1 ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาฎีกาโดยอ้างว่าป่วยมาแล้วหลายครั้งนานกว่า 1 ปี มีเจตนาประวิงคดีให้ล่าช้า และมีพฤติการณ์หลบหนี จึงให้ออกหมายจับนายธาริต เพื่อมาฟังคำพิพากษาฎีกาและนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยนายธาริต พร้อมทนายความเดินทางมาศาล ทั้งนี้ทนายความนายธาริตจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนคืนศาลฎีกา เพื่อพิจารณาสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปรับปรามการทุจริต มาตรา 4 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 5 วรรคแรก มาตรา 26, 27, 29 วรรคแรก ส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับกับคดีไม่ได้ ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม 2566 รวมทั้งนายธาริตจําเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การฉบับเดิม และขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เพื่อขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษด้วย
©2018 CK News. All rights reserved.